ปรับปรุงล่าสุด 27 ต.ค. 2022 08:13:37 4,881

ภูมิปัญญา (Wisdom)

 

ภูมิปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อ ความสามารถทางพฤติกรรมและความสามารถในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์

ภูมิปัญญา  เป็นเรื่องที่สั่งสมกันมาตั้งแต่อดีตและเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ  คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ  โดยผ่านกระบวนการทางจารีตประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากินและพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์เหล่านี้

ภูมิปัญญา  หมายถึง ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ ในการศึกษาเล่าเรียน การที่ชาวนารู้จักวิธีทำนา  การไถนา การเอาควายมาใช้ในการไถ่นา  การรู้จักนวดข้าวโดยใช้ควาย  รู้จักสานกระบุง ตระกร้า เอาไม้ไผ่มาทำเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน  เรียกว่าภูมิปัญญาทั้งสิ้น

ภูมิปัญญา  เป็นผลึกขององค์ความรู้ที่มีกระบวนการสั่งสม สืบทอด กลั่นกรอง กับมายาวนาน มีที่มาหลากหลายแต่ได้ประสบประสานกันจนเป็นเหลี่ยมกรณีที่จรัสแสงคงทนและท้าทายตลอดกาลเวลา ความรู้อาจจะไม่ได้เป็นเอกภาพ แต่ภูมิปัญญาจัดว่าเป็นเอกลักษณ์

ดังนั้น  อาจสรุปได้ว่า  ภูมิปัญญา หมายถึง  องค์ความรู้ ความเชื่อ ความสามารถของคนในท้องถิ่น ที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเป็นองค์รวม และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม

ประเภทของภูมิปัญญา

  1. ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นองค์ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมและสืบทอดกันมา เป็นความสามารถและศักยภาพในเชิงการแก้ปัญหา การปรับตัวเรียนรู้และสืบทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชาติ ของเผ่าพันธุ์หรือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน
  2. ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิธีการปฏิบัติของชาวบ้าน ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ แนวทางแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง แต่ละประสบการณ์  แต่ละสภาพแวดล้อม ซึ่งจะมีเงื่อนไขปัจจัยเฉพาะแตกต่างกันไป นำมาใช้แก้ไขปัญหาโดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่โดยชาวบ้านคิดเอง เป็นความรู้ที่สร้างสรรค์และมีส่วนเสริมสร้างการผลิต หรือเป็นความรู้ของชาวบ้านที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน  เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรม
    เป็นความรู้ที่ปฏิบัติได้มีพลังและสำคัญยิ่ง ช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่รอดสร้างสรรค์การผลิตและช่วย
    ในด้านการทำงาน  เป็นโครงสร้างความรู้ที่มีหลักการ มีเหตุ มีผลในตัวเอง
  3. ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของคน  ผ่านกระบวนการศึกษา สังเกต คิดว่าวิเคราะห์จนเกิดปัญญาและตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่ประกอบกันขึ้นมาจากความรู้เฉพาะหลาย ๆ เรื่อง จัดว่าเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้สมัยใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหาจัดการและการปรับตัวในการดำเนินชีวิตของคนเรา ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม ชุมชนและในตัวผู้รู้เอง จึงควรมีการสืบค้น
    รวบรวม ศึกษา ถ่ายทอด พัฒนาและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง
  4. ภูมิปัญญาไทย  หมายถึง  องค์ความรู้ ความสามารถ
    ทักษะของคนไทยที่เกิดจากการส่งเสริมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการการเลือกสรร เรียนรู้ปรุงแต่งและถ่ายทอดสืบต่อกันมา  เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย

ลักษณะของภูมิปัญญาท้องถิ่น

ลักษณะสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น พอสรุปได้ดังนี้

  1. เป็นเรื่องของการใช้ความรู้ ทักษะ  ความเชื่อและพฤติกรรม
  2. แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง คนกับคน  คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
  3. เป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิต
  4. เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหา การจัดการ  การปรับตัว  การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชนและสังคม
  5. เป็นแกนหลักหรือกระบวนทัศน์ในการมองชีวิตเป็นพื้นความรู้ในเรื่องต่าง ๆ
  6. มีลักษณะเฉพาะหรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
  7. มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคมตลอดเวลา
  8. มีวัฒนธรรมเป็นฐาน ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
  9. มีบูรณาการสูง
  10. มีความเชื่อมโยงไปสู่นามธรรมที่ลึกซึ้งสูงส่ง
  11. เน้นความสำคัญของจริยธรรมมากกว่าวัตถุธรรม

กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดให้มีกลุ่มงานภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้สำนักพัฒนาเกษตรกร ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการ เพื่อรับผิดชอบในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ โดยมีหน้าที่ดังนี้

  1. ศึกษา รวบรวม และจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา ทดสอบ และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร
  3. บริหารและจัดการให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน และองค์กรเกษตรกร/ชุมชนอย่างเป็นระบบ ในการพัฒนา บ่มเพาะ และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. ส่งเสริมการสนับสนุนการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสากลให้เกิดนวตกรรมด้านการเกษตร
  5. สนับสนุน และประสานให้เกิดการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และทรัพย์สินทางปัญญาทีเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

  

ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ภูมิปัญญาทำให้ชาติและชุมชนผ่านพ้นวิกฤติและดำรงความเป็นชาติ หรือชุมชนได้
- ภูมิปัญญาเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและความดีงามที่จรรโลงชีวิตและวิถีชุมนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนและสมดุล
- ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานการประกอบอาชีพและเป็นรากฐานการพัฒนาที่เริ่มจากการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง การพัฒนาเพื่อการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และการพัฒนาที่เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้สากลบนฐานภูมิปัญญาเดิม เพื่อเกิดเป็นภูมิปัญญาใหม่ที่เหมาะสมกับยุคสมัย
ดังนั้น ภูมิปัญญาจึงมีคุณค่าไม่เพียงแต่ต่อท้องถิ่นและผู้คนเท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป